การพัฒนาเด็กเล็กแบบญี่ปุ่น นิยามของไม้อ่อนดันง่าย ฝึกให้เป็นอัจฉริยะ!

            การพัฒนาเด็กเล็กเป็นเรื่องยากหากมองในมุมของคนที่ไม่เข้าใจหลักการ แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญนั้นกลับมองว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะสำหรับคนญี่ปุ่น พวกเขามีความเชื่อว่าการฝึกที่ดีควรเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะ การฝึกให้มีวินัย!

            หลักสูตรการสอนแบบญี่ปุ่น ค่อนข้างเข้มงวดแต่ก็เป็นอิสระ หากใครได้ดูรายการ “ดูให้รู้ ตอน อนุบาลอัจฉริยะ” ทางช่อง ThaiPBS จะเห็นว่าการฝึกเด็กนั้นจะเป็นในลักษณะเล่นเต็มที่ ฝึกเต็มที่ ซึ่งหลักสูตรของญี่ปุ่นนั้นจะเน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยจะให้เด็กโตเล่นรวมกลุ่มกับเด็กเล่น ให้เด็กๆเล่นคละกันเพื่อที่เด็กโตจะได้คอยดูแลเด็กเล็ก เป็นแบบอย่าง และเป็นผู้นำ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมการฝึกทักษะของเด็กในอีกรูปแบบหนึ่ง

            ทั้งนี้ระหว่างเล่น หากเด็กๆได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม พวกเขาจะต้องยืนหยัดลุกขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครช่วย เป็นการสอนให้พวกเขามีจิตใจเข้มแข็ง ขณะเดียวกันการเล่นเกมแข่งขัน เด็กทุกคนจะต้องรู้จักแพ้รู้จักชนะเพื่อให้พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็งและฝึกตนต่อไป ฟังแล้วราวกับฝึกวรยุทธ์เลยละคะ แต่ญี่ปุ่นมีหลักสูตรการสอนแบบนี้จริงๆ

            นอกจากการสอนผ่านการเล่นแล้ว หลักสูตรญี่ปุ่นยังเน้นด้านจิตสาธารณะเป็นหลักในการสอนด้วย จะเห็นได้จากหลายๆเหตุการณ์ในญี่ปุ่น เช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือความผิดพลาดในการทำงาน รัฐบาลหรือเจ้าของบริษัทที่ควบคุมดูแลงานนั้นจะออกมาขอโทษและลาออก นี่ละ! เป็นจุดเด่นและจุดแข็งของญี่ปุ่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน แสดงถึงจิตสาธารณะ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อันแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีความสามารถไม่พอต่อการจัดการจึงยอมเป็นฝ่ายลาออกเพื่อให้คนที่มีความสามารถขึ้นมาบริหารจัดการต่อแทนตนให้ดี นี่เพราะมันเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง

            ในการฝึกเด็กของญี่ปุ่นจะยึดคำคมสากลที่เราได้ยินบ่อยๆจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างไอน์สไตล์ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ซึ่งคำคมนี้เองที่ชาวญี่ปุ่นใช้พัฒนาหลักสูตร ระดับชั้นอนุบาลของญี่ปุ่นจะไม่เน้นการเรียนหนัก แต่จะเน้นให้เด็กๆจินตนาการ ส่วนการเรียนนั้นจะเป็นการเรียนเพื่อรู้ไม่ใช่ เพื่อไปสอบ ทั้งนี้ หลักสูตรยังเน้นสอนเด็ก 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ พลานามัย, สังคมศึกษา, ธรรมชาติศึกษา, ภาษา, ดนตรีและจังหวะ และการวาดภาพและงานฝีมือ จะเห็นได้ว่าหลักสูตรที่กล่าวมาสามารถสอดแทรกเข้ากับการเล่นของเด็กๆได้ แถมยังแสดงให้เห็นว่าการฝึกคนควรฝึกจากสิ่งที่อยู่รอบตัวก่อนอีกด้วย